ผมเชื่อว่าหลายท่านคงจะรู้จักกับการ Overclock กันอยู่บ้างแล้ว ซึ่งก็คือการอนุญาตให้การ์ดจอ หรือ ซีพียู ทำงานที่ความเร็วสูงกว่าความเร็วมาตรฐานที่กำหนดมา ซึ่งความเร็ว "มาตรฐาน" สมัยนี้ ก็จะเป็นความเร็วที่เรียกว่า Boost / Turbo Boost / Precision Boost หรือเรียกอีกแบบว่า Automatic Overclock อยู่แล้วนะ คือทั้งการ์ดจอและซีพียูสมัยนี้ฉลาดกว่าเดิมมาก มันสามารถเร่งความเร็วตัวเองได้เลยถ้าเกิดว่ามีปัจจัยที่เหมาะสม นี่คือเราไปตั้งให้มัน Overclock ไปที่ความเร็วสูงขึ้นกว่าเดิมอีกหน่อย สำหรับท่านที่สนใจเรื่องนี้ ลองแนะนำให้อ่านบทความอีกสองอันคือ TDP (ทำไม i7-8750H ทำงานไม่ถึง 4.1GHz) และ วิธีการ Overclock CPU Intel กันดูนะ
Overclock แบบปกติธรรมดา ที่เราเคยชินกัน
แต่ว่าการปรับ VF Curve สำหรับการ์ดจอ NVIDIA นั้น จะต่างจากการ Overclock ธรรมดา ตรงที่ว่า เราสามารถปรับความเร็วได้อย่างละเอียดมากขึ้น โดย VF นี่ มาจาก Voltage / Frequency Curve ซึ่งคือความสัมพันธ์ระหว่าง แรงดันไฟ/ความต่างศักย์ (Voltage) หน่วยเป็น Volt กับ ความเร็ว/ความถี่ (Frequency) หน่วยเป็น Hertz หรือ ความบ่อยในการทำงานของชิพการ์ดจอใน 1 วินาที ซึ่งระดับที่การ์ดจอทำงานนั้น จะอยู่ในหลัก Mega Hertz หมายถึง 1 ล้านครั้งต่อวินาที โดยความเร็วการ์ดจอปัจจุบันก็จะอยู่ในระดับ 1000 - 2000 MHz หรือเรียกว่า 1-2GHz (Giga Hertz) หรือ พันล้านครั้งต่อวินาที
แน่นอนว่า การจะให้ชิป (Integrated Circuit - IC, Microchip) ซึ่งก็คือวงจรไฟฟ้า สามารถทำงานได้วินาทีละเป็นพันล้านครั้งขนาดนี้ ก็จะต้องใช้แรงดันไฟสูงประมาณนึง โดยปกติก็คือ ยิ่งวงจรทำงานที่ความเร็วสูงขึ้น ก็จะต้องใช้แรงดันไฟเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งวิศวะกรที่ออกแบบชิปมา เขาก็ได้ทำการทดลองเอาไว้จากตัวอย่างของชิปที่ผลิตออกมาหลายๆ รอบแล้วว่า โดยเฉลี่ยแล้ว มันจะต้องใช้แรงดันไฟประมาณไหน
สำหรับ GTX1060 ในเครื่อง NXL Demo ที่ผมใช้อยู่ เขากำหนดไว้ประมาณนี้ โดยถ้าความเร็วอยู่ที่ 139MHz ระบบจะจ่ายไฟให้ 0.45V (450mV) ไล่ไปจนถึง 1.243V ถ้าความเร็วอยู่ที่ 1911MHz
ส่วนเครื่อง Kurz ของน้องโย่ ที่ใช้ RTX2080 รุ่นที่ Overclock มา (ที่ผมซื้อให้เป็นของขวัญวันเกิด - ขอความดีความชอบด้วย อิอิ) เขากำหนดไว้แบบนี้ โดยความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 2010MHz
เขาก็คิดมาดีแล้ว แล้วทำไมเราจะต้องไปปรับมันด้วย?
นั่นก็เพราะว่า เราเป็นคนที่เชื่อโชคลางยังไงละ!!!
ความเกี่ยวของกับดวงชะตามันอยู่ตรงที่ เนื่องจากกราฟ VF นี้ ถูกกำหนดมาสำหรับชิป ที่ผลิตพร้อมกันเป็นแสนเป็นล้านชิ้น โดยสรุปๆ แล้ว ก็คือ เวลาที่ผลิตชิป (Die) ออกมา มันจะมีทั้งชิปดีมากเวอร์ ชิปกลางๆ และชิปเสีย โดยชิปดีๆ มักจะเป็นชิปที่อยู่ตรงกลางชิ้น Wafer (แผ่นที่เขาไว้ผลิตชิพ) หรือตรงกลางเลนส์ที่ฉายภาพวงจรลงไป ชิปนี้มันมักจะได้ลายวงจรชัดที่สุด จะออกมาเป็นชิปที่สมบูรณ์ที่สุด มีส่วนประกอบในชิปครบถ้วนที่สุด
ซึ่งถ้าเราลองดูรหัส GPU ของ Nvidia RTX ตอนนี้ จะพบว่า RTX2080 กับ RTX2070 Super นั้น เป็นชิพรหัสเดียวกันคือ TU104 ส่วน RTX2070 / 2070Super / 2060 นั้น ก็เป็นชิพรหัสเดียวกันอีก คือ TU106
(Screenshot จาก Anandtech)
หรือพูดง่ายๆ ก็คือ พอ NVIDIA ผลิต RTX ออกมามากขึ้นๆ (จริงๆ คือ TSMC ผลิตนะ) ก็พบว่า ชิป TU104 ที่จะใช้เป็น RTX2080 นั้นมีอีกจำนวนนึง ที่อาจจะขาดแห่วงไปบ้าง ไม่ได้ครบ 2944 Cores พวกนี้เขาก็เก็บๆ ไว้ก่อน พอ AMD ออก Radeon VII มา ก็เลยเอามาดูว่า ตกลงแล้วโดยเฉลี่ยแล้ว ชิปพวกนี้ใช้ได้กี่ CUDA Cores (สรุปว่าได้ 2560) แล้วก็มาขายเป็น 2070 Super ซะ แบบที่แต่ก่อนเราเคยเห็น GTX1070Ti ออกมาที่เร็วเกือบๆ 1080 นั่นแหละ วิธีการแบบนี้เรียกว่า Binning Process
แน่นอนว่า เราเอง ก็มีโอกาสที่จะดวงดี ที่ใช้ชิพ (Die) ที่คุณภาพดีกว่าคนส่วนมาก เราก็อาจจะสามารถใช้ VF Curve ที่ดีกว่านั้นก็ได้ยังไงละ!
เราจะปรับ VF Curve ไปทำไม?
การปรับ VF Curve มีผลได้สองแบบ ก็คือ
- ให้ชิพทำงานที่ความเร็วสูงขึ้น โดยที่ Volt ก็สูงขึ้นด้วยหรือเท่าเดิม อันนี้ก็คือการ Overclock ปกตินั่นแหละ การ Overclock ก็คือการเพิ่ม MHz ในกราฟ VF Curve นี้อย่างเดียว เราเรียกว่า "Offset" ก็คือ กราฟจะขยับขึ้นบนเท่าๆ กันทั้งกราฟ ถ้าเราเลื่อน Clock เพิ่ม กราฟก็จะลอยขึ้้นแบบนี้
- ให้ชิพทำงานที่ความเร็วสูงขึ้น ที่ Volt ต่ำกว่าเดิม ซึ่งจะได้ผลที่เรียกว่า "Undervolt" ก็คือ กราฟ VF จะถูกเพิ่มความชัน ตั้งแต่ในช่วง Volt น้อยๆ จะเห็นว่าในกราฟตัวอย่างนี้จากโปรแกรม SystemX ก็คือตัว GPU จะเริ่มทำงานที่ความเร็ว 1911MHz ตั้งแต่ระดับ 0.6V เลย (ซึ่งเป็นไปไม่ได้หรอกนะ)
เกิดอะไรขึ้นเมื่อเราปรับ VF Curve?
สิ่งที่จะเกิดขึ้น เมื่อปรับ VF Curve ก็คือ ปริมาณงาน (Power) หน่วยเป็นวัตต์ จะเปลี่ยนไป ซึ่งงานที่ว่านี้ เกิดจากการที่กระแสไฟฟ้าที่วิ่งไปในวงจรเกิดได้เป็นงานออกมา (คล้ายแรงม้าของรถยนต์น่ะ) ซึ่งจากสูตร P = V x I หรือ Power = Voltage x Current จะเห็นว่า Volt มีผลโดยตรงเลยกับ Power ที่จะเกิดขึ้น
ซึ่ง Power ที่เกิดขึ้นนี้ เราจะรับรู้ได้ในรูปของความร้อน โดยชิพการ์ดจอ (และซีพียูด้วย) จะมีค่ามาตรฐานของการปล่อยความร้อนอยู่ เรียกว่า TDP (Thermal Design Power) เป็นจุดอ้างอิง ให้สำหรับคนที่ผลิตการ์ดจอ สามารถออกแบบระบบระบายความร้อนได้อย่างเหมาะสมกับชิปแต่ละตัว สำหรับ RTX2080 นั้นก็มี TDP ถึง 215W จึงเป็นสาเหตุที่การ์ดจอมี Heatsink ขนาดใหญ่มาก ยิ่งเป็นรุ่น Overclock ก็ยิ่งใหญ่เข้าไปอีก เพราะว่ารุ่นที่ Overclock มา ก็จะมี VF Curve ที่สูงกว่าการ์ดรุ่นปกติ หรือก็คือ ที่ระดับ Volt เดียวกัน มันทำงานที่ MHz สูงกว่า ลองดูภาพรุ่นธรรมดา เทียบกับรุ่น Extreme ข้างล่างสิ!!!
โดยการ์ดจอรุ่นที่เป็นของเครื่อง Desktop ใน BIOS ของการ์ดจอ จะกำหนดค่า TDP มา และส่วนมากจะอนุญาตให้เราสามารถปรับ TDP (Power Target) เองได้ โดยอย่าง RTX2080 ของน้องโย่ผมนี่ ยอมให้เกิน TDP ได้ถึง 6% กันเลยทีเดียว ทำให้เราสามารถเพิ่มความเร็วของการ์ดได้มากขึ้น
ส่วนในด้านของการ์ดจอโน๊ตบุ้ค เราจะไม่สามารถเปลี่ยนค่า TDP ได้ เพราะว่าคนที่ออกแบบโน๊ตบุ้ค เขาก็รู้อยู่แล้วว่า Heatsink, ภาคจ่ายไฟ รวมไปถึง Adapter ของรุ่นนี้ จะรับปริมาณ Power ที่เกิดจากการ์ดจอ และกระแสไฟที่จะจ่ายให้การ์ดจอได้แค่ไหน (เพราะถ้ายอมให้ Power เพิ่ม ก็จะเป็นการเพิ่ม I ไปด้วย) ในการที่จะให้ชิพการ์ดจอทำงานที่ความเร็วสูงขึ้น โดยที่ Power เท่าเดิม เราเลยจะต้องปรับ Volt ลง โดยใช้ VF Curve นั่นเอง
ผลข้างเคียงของการปรับ VF Curve?
เวลาที่เราปรับ VF Curve ให้ Offset สูงขึ้น พร้อมกับเพิ่ม Power Target ไปด้วย สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ตัวแปร P ในสมการ P = I x V จะถูกอนุญาตให้มีค่าเพิ่ืมสูงขึ้นได้ ดังนั้น I หรือปริมาณกระแสที่วิ่งผ่านไปในชิพการ์ดจอ ก็จะยิ่งสูงมากขึ้น จากที่เห็นว่า RTX2080 เรา มี TDP 215W และทำงานที่ Volt ประมาณ 1.2V ก็คือ มีกระแสไฟวิ่งเข้าไปถึง 179Amp เลยทีเดียว ถ้าเราไปเพิ่มอีก Power Target เป็น 106% ก็จะทำให้มีกระแสวิ่งเข้าไปมากขึ้นอีก 6% กลายเป็น 190Amp และเนื่องจากทาง NVIDIA ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ตัวชิพการ์ดจอ สามารถทนกระแสไฟได้มากขนาดไหน ทางที่ดีก็อย่าไปซนมากถึงขึ้นนี้ดีกว่านะ
(ใน Guide การ Overclock CPU บางคนบอกให้ปรับ IccMax ไปที่ 255Amp นี่ก็ไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะตาม Datasheet เนี่ย ชิพ 9900K ยังรองรับแค่ 193Amp เลยนะ)
ส่วนในทางกลับกัน ถ้าเรา Undervolt คือ ให้การ์ดจอทำงานที่ระดับ Volt ต่ำลง แต่ความเร็วเท่าเดิม จะเป็นการลด P ในสมการ เพราะว่า V ลดลง นั่นก็คือ ชิพจะทำงานที่ความร้อนต่ำลงแทน และถ้าเราไปปรับให้ Volt ต่ำลง โดยความเร็วเพิ่มขึ้นอีก ก็จะมีโอกาสที่ชิพจะทำงานที่ความเร็วมากขึ้นได้ โดยที่ไม่ติด Power Limit กลายเป็นว่าเรา "Overclock" การ์ดจอได้ โดยการ "Undervolt" นั่นแหละ งงมั๊ย?
ใช้โปรแกรมอะไรปรับ VF Curve
สำหรับการปรับ VF Curve เท่าที่ทราบตอนนี้ มี 4 โปรแกรมที่สามารถทำได้ แต่เนื่องจากว่าอันนี้เป็นพื้นที่สื่อของ LEVEL51 ดังนั้นเราจะพูดถึงเฉพาะโปรแกรมที่ไม่ได้มีชื่อคู่แข่งกะเราอยู่ในชื่อโปรแกรมนะ อิอิ
nvoclock เป็นโปรแกรมที่ใช้ Command Line ในการพิมพ์สั่งงาน ซึ่ง SystemX เราก็เรียกใช้โปรแกรมนี้อีกทีนั่นแหละ เพราะว่าการปรับ VF Curve ต้องใช้ NVAPI แบบ NDA ซึ่งมนุษย์ทั่วไปไม่สามารถหามาใช้ได้ แต่ว่าคนที่ทำ nvoclock เขาใช้เทคนิคขั้นเทพมากในการไปดักโปรแกรมเรียกใช้ NVAPI มาให้แล้วมาวิเคราะห์วิธีเรียกออกมาให้ ก็เขามีเป็น Library ด้วยนะ แต่ว่ามันเป็นภาษา Rust จะเอามาใช้กับ .NET ต้องเขียนเพิ่่มเยอะเลยแหละ เลยเรียกโปรแกรมนี้ตรงๆ เลยดีกว่า
LEVEL51 SystemX จะอยู่ในเมนูตรงไอคอน Nvidia ถัดจากเใยู AutoTune ซึ่งเวอร์ชั่นในภาพนี้ กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบเพิ่มอีกหน่อย และจะเปิดให้ทุกท่านดาวน์โหลดไปใช้งานได้เร็วๆ นี้แหละ ;) แน่นอนว่าเจ้าของเครื่อง LEVEL51 ถึงจะสามารถใช้ได้ครบทุกความสามารถของโปรแกรมนะ
EVGA Precision X1 กดลูกศรด้านล่างเลื่อนไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็น
วิธีการปรับ VF Curve
ขออนุญาตแนะนำของเราเองก่อน ก็คือ SystemX นะ :)
ในหน้าจอของ SystemX เราสามารถเลือกปรับได้สองวิธีคือ ลากจุดเองบนกราฟ ซึ่่งตอนที่เอาเมาส์ชิ้ จะมีตัวเลขบอกว่า ตอนนี้เรากำลังปรับที่จุด Voltage (หน่วยเป็น mV) เท่าไหร่ และที่ Voltage เท่านี้ เราจะให้ชิพทำงานที่ความเร็วเท่าไหร่ พอเลื่อนแล้ว จุดต่อๆ ไปด้านหลัง ก็จะขยับตามให้ด้วย ส่วนถ้าเลื่อนต่ำลง จุดข้างหน้าก็จะขยับให้ตามด้วยเหมือนกัน
อีกทางเลือกหนึ่งที่ง่ายกว่า คือใช้ตัวเลื่อนสองอัน ที่ปรับสะดวกกว่ามานั่งเลื่อนเองแบบนี้มา โดยขั้นแรก เลื่อนเพื่อเลือกความเร็วที่ต้องการก่อน เช่น 1600MHz โปรแกรมก็จะแก้ไขจุดทั้งหมดที่ความเร็วเกิน 1600 ลงมา ใช้ปุ่มลูกศรซ้ายขวาค่อยๆ เปลี่ยนด้วยก็ได้
จากนั้น เลื่อนตัวเลื่อนที่สอง เพื่อเลือกตำแหน่ง Voltage ที่จะให้ชิปเริ่มทำงานที่ความเร็วนี้ ตัว SystemX ก็จะเทียบกับ VF Curve เดิมว่า จุดไหนที่ Volt มากกว่าหรือเท่ากับ Volt ที่กำหนด แล้วปรับให้ความเร็วมาเท่ากับความเร็วที่เลือกไว้ เช่นถ้าตั้งไว้ที่ 700mV ตั้งแต่จุด 700mV เป็นต้นไปก็จะเป็นความเร็ว 1600MHz ตลอด
ส่วนถ้าใช้ EVGA Precision X1 วิธีการปรับจะยากหน่อย เพราะว่าแต่ละจุดนอกจากจะเล็กแล้ว ยังต้องเลื่อนเอาเอง (มีทั้งหมด 80 จุดใน GTX, 128 จุดใน RTX) แล้วกะให้พอดีกันเอง มันไม่เลื่อนตามให้แบบของ SystemX :P ซึ่งการที่มันไม่เลื่อนตามให้เนี่ยแหละ ทำให้ผมงงอยู่นานมากว่าเราจะปรับให้มันโดดๆ โด่ๆ แบบนี้ไปทำไม พอเก็ทแล้วเลยมาทำให้ SystemX เลื่อนจุดก่อนหลังให้ด้วยเลยนี่ไง :D
หลักการปรับ VF Curve
เรารู้วิธีการปรับกันแล้ว ตอนนี้มาถึงหลักการบ้าง ว่าเราจะต้องปรับ VF Curve อย่างไร จึงจะเหมาะสม สำหรับเป้าหมายคร่าวๆ ของเราก็คือ เราจะให้การ์ดจอทำงานที่ความเร็วสูงสุดภายในขอบเขต Power Limit ที่กำหนด ก็คือสุดท้ายแล้ว กราฟตั้งแต่จุด Volt ที่เรากำหนด จะเป็นเส้นตรง โดยเราจะไม่แก้จุดก่อนหน้า Volt ที่เรากำหนด เพื่อให้โปรแกรมที่ไม่ต้องใช้ความเร็วสูงมาก สามารถใช้งานที่ระดับความเร็วเดิม ซึ่งสามารถทำได้อย่างง่ายเลยด้วย SystemX อย่างที่แสดงให้ดูไปก่อนหน้านี้
ก่อนอื่นเลย เราต้องการโปรแกรมที่จะโหลดการ์ดจอเรา โดยผมเลือกโปรแกรม FurMark เนื่องจากมันมีข้อมูลต่างๆ ครบถ้วนดีในหน้าจอตอนที่มันทำงาน
พอเปิดเข้ามาดู แนะนำให้เลือกปรับ Anti-aliasing เป็น 8X เพื่อให้การ์ดจอทำงานเต็มที่ที่สุด ถ้าเกิดว่า GPU Load น้อยกว่า 95% ให้ลองเพิ่มความละเอียดดู ถ้ามันน้อยกว่า 95% แสดงว่า CPU ที่ใช้อยู่ตอนนี้เร็วไม่พอที่จะส่งข้อมูลให้การ์ดจอได้ทัน เราต้องใช้วิธีเพิ่มงานให้การ์ดจอแทน แต่สำหรับ NXL เครื่องนี้ เป็น CPU Desktop อยู่แล้วก็ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ :) พอปรับแล้ว ก็กด GPU stress test เพื่อเริ่มได้เลย
สำหรับ NXL ตัวนี้ ชิป GTX1060 ทำงานอยู่ที่ความเร็วประมาณ 1620MHz เมื่อปล่อยไว้ 5 นาที ถ้าลองสังเกตจะเห็นว่า ช่วงต้น ชิปสามารถทำความเร็วสูงได้ แต่พอความร้อนของชิพสูงขึ้น ซึ่งมันจะต้องใช้แรงดันไฟมากขึ้นเพื่อให้ทำงานที่ความเร็วเท่าเดิมได้ ก็ความเร็วเริ่มจะลดลง จนมาถึงจุดที่ความเร็วเกือบคงที่
ถ้าเทียบกันแล้ว มันก็มากกว่าความเร็วมาตรฐานแล้ว คือ Boost ขึ้นมาได้หน่อย (1404 Base, 1670 Boost แต่รุ่นนี้ตั้งไว้ที่ 1455 - 1733) แต่ว่าก็ยังไม่เท่าของ Desktop ซึ่งจะอยู่ที่ 1506 Base และ 1708 Boost
สำหรับเครื่องของคุณเอง ลองสังเกต ตรงที่เขียนว่า Limits ถ้าแสดงคำว่า power:1 อันนี้คือการติด Power Limit หรือก็คือตอนนี้ชิพทำงานที่ระดับ Power สูงสุดตามที่เครื่องออกแบบมาให้รองรับได้ไหวแล้ว แต่อีกอย่างที่เกิดขึ้นก็คือ ยิ่งความร้อนเพิ่ม จะต้องใช้ Volt สูงขึ้น มันก็จะติด Power Limit และก็ต้องลดความเร็วลง วนไปแบบนี้ ดังนั้นการที่เครื่องระบายความร้อนดีขึ้น ก็จะยิ่งติด Power Limit ได้ยากขึ้นส่วนหนึ่งด้วย (ขอแนะนำ LIQUID Pro~)
จากนั้นกลับมาที่หน้าจอของ SystemX แล้วปรับความเร็วด้วยตัวเลื่อนด้านล่างเป็น 1708MHz เท่ากับ Desktop เลย จากนั้น ลองค่อยๆ เลื่อน Voltage ลง จะเห็นว่า ยิ่งเลื่อนต่ำลง จะมีบางช่วงที่จุดบนกราฟโดดห่างออกจากกัน ถ้าเห็นว่ามีจุดโดดห่างจากกันแบบนี้ แสดงว่าเกิดการ Undervolt ขึ้นแล้ว :)
พอกลับมาเปิด FurMark ดูอีกรอบ จะเห็นว่า ความเร็วตอนนี้จะหยุดนิ่งที่ 1695MHz เพิ่มขึ้นมาประมาณ 75MHz (ถือว่าเยอะสำหรับการ์ดจอ เพราะการ์ดจอส่วนมาก Offset Overclock ได้แค่ประมาณ 150MHz) โดยที่ไม่ติด Power Limit (power:0) แถมความร้อนหลังจากรันไปได้ 5 นาที ลดลงจาก 84c เหลือเพียง 78c เท่านั้นเองด้วย อัยย่ะ เย็นลงแต่เร็วขึ้น มันเป็นไปได้~
แต่เราย่อมไม่พอใจที่ความเร็วเท่า Desktop ใช่ไหม ดังนั้นเราก็จะไปเพิ่มมันอีก เป็น 1800MHz และลองเปิด FurMark...ก็จะค้างไปตามระเบียบ เพราะว่าแรงดันไฟมันน้อยเกินกว่าจะทำงานที่ความเร็วนี้ได้นั่นเอง ถ้าค้าง ให้รอประมาณ 30 วินาที - 1 นาที ระบบของ Windows 10 จะทำการรีเซ๊ตตัวการ์ดจอและไดรเวอร์ของ NVIDIA แล้วภาพก็จะกลับมาขยับได้อีกครั้ง
ดังนั้นเราก็จะต้องไปเพิ่ม mV ขึ้นอีก จนกว่าจะพอรันได้นั้นแหละ ซึ่งจุดที่เครื่องนี้รัน Furmark ได้จนประมาณ 5 นาทียังไม่ดับคือ 850mV โดยความเร็วได้อยู่แถวๆ 1797-1809MHz เพิ่มมาได้ถึง 189MHz!!! ส่วนการลือกความเร็วไว้ที่ 1830MHz เพราะว่าความเร็วปกติมันจะไม่ได้ลงเลขกลมๆ ซะทีเดียว ต้องใส่เลขเกินๆ ไปหน่อย
โดยจุดนี้เราจะเริ่มติด Power Limit ซึ่งแปลว่าเราทำอะไรกับมันมากกว่านี้ไม่ได้แล้วละ เพราะว่าถ้าเราเพิ่มความเร็วขึ้นอีก มันก็จะโดนจำกัดด้วย Volt ที่ต่ำไป ส่วนถ้าเราเพิ่ม Volt ชดเชย ก็จะกลายเป็นทำให้มันติด Power Limit มากกว่าเดิม กลายเป็นเราได้ความเร็วน้อยลงไปอีก
ผลงานการปรับ
ก็สำหรับเครื่องของ LEVEL51 เราก็ได้ลองปรับไว้ ได้ผลตามนี้
ส่งท่้าย
หวังว่าวิธีการปรับ VF Curve ที่ผมไปค้นคว้ามานี้ จะช่วยให้ทุกท่่านสามารถไปลองปรับเล่นเองได้บ้าง และก็ได้รีดประสิทธิภาพสูงสุดของการ์ดจอออกมาได้อย่างที่ต้องการนะ