ก่อนอื่น ต้องขอออกตัวก่อนว่า โพสนี้เป็นโพสที่เขียนสำหรับ เครื่อง LEVEL51 Gen 8 หรือรุ่นที่ใช้เป็น CPU Desktop นะ แต่ถ้าคนที่มีคอมพิวเตอร์ที่เป็น CPU K จะอ่านเอาไอเดียเพิ่มก็ได้
จากการที่ลองใช้ทั้ง AMD, Intel มาแล้ว (จริงๆ จะบอกว่า Cyrix ด้วย แต่คนส่วนมากคงจะไม่รู้จัก ฮือๆ) ขอบอกว่า การโอเวอร์คล็อก ของ Intel มีอะไรให้ปรับได้เยอะกว่า ปรับได้ละเอียดกว่า แล้วก็ดูน่าตื่นเต้นกว่ามากเลย โปรแกรมของ Intel ที่ใช้ในการโอเวอร์คล็อก เรียกว่า Intel XTU ซึ่งถ้ายังไม่มี ก็ไปดาวน์โหลดมาได้จากที่นี่เลยนะ และก็ถ้ายังไม่ได้อ่านโพสที่อธิบายว่า ทำไม i7-8750H ทำงานได้ความเร็วไม่ถึง 4.1GHz ก็ขอแนะนำให้ไปอ่านปูพื้นมาก่อนเลย เพื่อให้พอได้ไอเดียคร่าวๆ ว่าอะไรมันสัมพะันธ์กันยังไง
สำหรับสาวก AMD ที่ใช้ Ryzen ซึ่งผมเองก็ใช้ Ryzen 7 1700x อยู่ จะใช้โปรแกรม Ryzen Master เพื่อทำการโอเวอร์คล็อก โดยตอนนี้ผมก็ปรับอยู่ที่ 3.9GHz ด้วยแรงดันไฟ 1.35V เพราะถ้าใช้ที่ 3.5GHz ผมรู้สึก(อาจจะรู้สึกไปเองก็ได้)ว่ามันช้ามาก สำหรับตัวโปรแกรมมันก็ดูใช้ง่ายดี แต่ก็ปรับได้แค่ว่า จะให้ความเร็ว กับแรงดันไฟเท่าไหร่ ไม่มีอะไรให้ลุ้นเลย จะเขียนบล็อก ก็ยังไม่รู้จะเขียนอะไรเลย ซึ่งไม่มีอะไรมาก ปรับ 3.9GHz / 1.35V จบ ใจอยากจะให้ถึง 4.0GHz ปรากฏว่าใส่ไป 1.45V แล้ว ก็ยังไม่ได้ เดี๋ยวค้างเดี๋ยว Blue Screen ตลอดเลยยอมแพ้ละ
UPDATE: 4/2019 ตอนนี้เปลี่ยนมาใช้ NXL GTX1060 แล้วละ ใส่ i7-8086K :)
เราจะปรับค่าอะไรกันบ้างเพื่อ Overclock?
สำหรับการโอเวอร์คล็อก CPU ของ Intel จะมีการตั้งค่าที่เกี่ยวข้องกันสองอย่าง คือ ความร้อน (Thermal) กับ ความเร็ว (Clock Speed) นะ สองอย่างนี้สัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เพราะว่า เมื่อความเร็วสูงขึ้น CPU ก็จะปล่อยความร้อนออกมามากขึ้น
โดยสำหรับ โน๊ตบุ้ค LEVEL51 รุ่น NX, SX, จะใช้ CPU แบบ i7-8750H ซึ่งเป็นซีพียูแบบที่ไม่สามารถโอเวอร์คล็อคได้ จะสามารถปรับจูนเรื่องความร้อนได้อย่างเดียว แต่ก็ยังสามารถทำให้มันทำงานที่ความเร็วสูงขึ้นได้
ส่วนโน๊ตบุ้คของเรา ที่ใช้ CPU ของเครื่อง PC ได้แก่รุ่น NXL, XL17, จะสามารถเลือกใช้ซีพียู ที่มีตัว K อยู่ในชื่อ ซีพียูพวกนี้นอกจากจะสามารถปรับจูนเรื่องความร้อนแล้ว ก็ยังสามารถปรับความเร็ว ได้ด้วย
ในเรื่องของความร้อน ถ้ายังไม่ได่้อ่านโพสก่อนนี้ ย้อนไปเล่าหน่อยก็ได้ว่ามันคือการปรับค่า TDP (Thermal Design Power) ของตัวซีพียูนั่นไง ซีพียูแต่ละรุ่นทาง Intel จะระบุมาว่า มันสามารถปล่อยความร้อนออกมาได้แค่ไหน ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนออกแบบ Heatsink มีจุดอ่้างอิงว่า จะต้องออกแบบให้สามารถระบายความร้อนได้แค่ไหน ตัวซีพียูที่มันระบายจึงจะไม่ความร้อนสูงเกินไป สังเกตว่า ยิ่ง Heatsink รุ่นที่เขาว่าดีว่าเย็น มันก็จะแพง ก็เพราะว่ามันมีความสามารถในการระบายความร้อนได้เยอะยังไงละ และพอเราใส่ Heatsink เทพพวกนั้นแล้วเห็นว่าอุณหภูมิมันลดลงบ้าง ก็เป็นเพราะว่ามันสามารถระบายได้เยอะกว่าที่ซีพียูต้องการ ประมาณนั้น
การตั้งค่าต่างๆ เกี่ยวกับระบบการจััดการความร้อน
การ Overclock ก็เหมือนการจูนเครื่องรถเลยนะจะว่าไป แต่ว่ารถยนต์ อาจจะไม่เก่งเท่า CPU เพราะว่าในชิพ CPU ในสมัยนี้จะมีวงจรป้องกันตัวเองต่างๆ มากมาย เพื่อให้มันสามารถใช้งานได้นานที่สุด โดยที่ได้ประสิทธิภาพสูงสุด หนึ่งในตัวแปรสำคัญเลยก็คือเรื่องความร้อน
อย่างที่ได้เกริ่นไปแล้วว่า Heatsink ก็จะออกแบบมาเพื่อรองรับการระบายความร้อนของซีพียู ตาม TDP ที่ระบุไว้ แต่อีกจุดนึงที่มีผลต่อการระบายความร้อนก็คือ ตัวนำความร้อน หรือที่คนไทยเราเรียกว่าซิลิโคน ฝรั่งเรียก TIM (Thermal Interface Material) บางคนเรียก Thermal Grease บางคนเรียก Thermal Paste นั่นไง
แน่นอนว่าทางคนทำโน๊ตบุ้คเขาก็ได้ออกแบบระบบระบายความร้อน โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพของ TIM ที่เขาใช้ไว้แล้วด้วย พอเราใช้ตัวที่มันดีกว่า มันก็เลยมีผลทำให้ซีพียูมันเย็นลง ประมาณนั้น ส่วนถ้าถามว่า ทำไมเขาไม่เลือกใช้ตัวที่ดีเวอร์มาเลยแต่ต้น ก็น่าจะเพราะเหตุผลเรื่องการผลิต และก็ราคาดัวยมั๊งนะ
สำหรับเครื่อง LEVEL51 จะสามารถเลือกตัวนำความร้อนที่ดีที่สุดที่เขายอมขายให้เรา (อีกเจ้าส่งเมลล์ไปเขาไม่ตอบ เชอะ!) ก็คือ LIQUID Pro ครับ ตัวนี้ทำจากโลหะล้วน และก็มีผลทดสอบจากช่อง YouTube ช่อง Play3r TV ที่เทสไว้ EPIC สะใจมาก เทียบกัน 26 ตัว!! (คลิกเพื่อเปิดวีดีโอ)
สำหรับเครื่องที่เลือกใช้ตัวนำความร้อนที่มันดีขึ้นเยอะมาก เช่นอย่าง LIQUID Pro หรือ IC Diamond (ไม่ค่อยจะขายของเล้ย) ตัวซีพียูก็จะสามารถระบายความร้อนได้เร็วกว่า ทำให้มันสามารถทำงานที่ระดับ TDP ที่สูงกว่าได้ เช่น ปกติซีพียู i7-8750H จะตั้งค่าไว้ที่ 45W เราก็สามารถตั้งค่าให้มันทำงานที่ระดับ TDP สูงขึ้นได้ โดยที่ความร้อนจริงที่วัดได้ ยังไม่สูงจนเกินไปยังไงละ
เอาละได้เวลาเปิด Intel XTU ขึ้นมาได้แล้ว การตั้งค่าในโปรแกรม XTU ให้กดทางซ้าย เลือก All Controls ที่อยู่ข้างใต้ Advanced Tuning ได้เลย
สำหรับตัวเลือกที่เกี่ยวข้องกับความร้อน ก็จะมีตามนี้
Core Voltage Offset : นี่คือแรงดันไฟ ที่จะจ่ายให้กับซีพียู ซึ่งเราจะไม่ตั้งค่าตายตัว เราจะตั้งเป็น Offset หมายถึงว่า ถ้า CPU เลือกใช้ 1.0V เราจะให้มันน้อยลงเท่าไหร่ เช่นถ้าเราตั้งค่าไว้ -0.050V ก็แปลว่า ถ้าซีพียูเลือก 1.0V มันจะใช้ค่า 0.95V แทน
ผลเสียจากการลด Voltage Offset ก็คือ เครื่องเราจะไม่ค่อยเสถียร อันนี้ขึ้นอยู่กับดวงล้วนๆ ว่า เราจะสามารถลดได้เยอะแค่ไหน ถึงยังเสถียรอยู่ ความไม่เสียร เป็นสิ่งที่ให้คำจำกัดความยากเหมือนกัน แต่เวลามันเกิดขึ้น มาจะมาในรูป Blue Screen ที่สาเหตุแปลกๆ หรือไม่ก็เครื่องค้างนิ่ง หรือไม่ก็ดับไปเลย
Turbo Boost Short Power Max : อันนี้คือ Power Limit 2 (PL2) เป็นช่วงที่ตอนเครื่องยังไม่ร้อน หรือว่าทำงานกะปริดกะปรอย จะให้ TDP อยู่ที่เท่าไหร่ ปกติเขาจะตั้งไว้สูงกว่า TDP ประมาณ 20-30% ได้
ผลเสียจากการเพิ่ม PL2 ก็คือ มีโอกาสเจอ Thermal Throttling ได้ เพราะถึงตอนนั้น Heatsink ยังไม่ร้อน แต่ถ้าตั้งไว้สูงมาก ความร้อนก็อาจจะวิ่งออกไปไม่ทันเหมือนกันนะ จากที่สังเกตคือ บางทีความร้อนภายในตัวซีพียูอาจจะพุ่งไปถึง 95+ องศาแว๊บนึงได้เลย และถ้าไม่สบายใจ จะปิดไม่ให้มันทำงานเลยก็ได้ โดยเลือก Turbo Boost Short Power Max Enable เป็น Disable (Off)
Turbo Boost Power Max : อันนี้คือ Power Limit 1 (PL1) พูดอีกอย่างก็คือ TDP ของตัวซีพียูนั่นเอง ปกติจะตั้งไว้ให้เท่ากับ TDP นั่นแหละ
ผลเสียจากการเพิ่ม PL1 ก็คือ ซีพียูจะทำงานที่ความร้อนสูงขึ้น เพราะว่าระบบระบายความร้อนจะถูกออกแบบมาพอดีกับ TDP ของซีพียูที่มันใช้งานอยู่ยังไงละ
Turbo Boost Power Time Window : อันนี้คือเวลาที่ CPU จะพยายามรักษาระดับ PL1 ไว้ สมมุติว่า เราตั้งไว 8 วินาที ภายใน 8 วินาทีนั้น ความร้อนจาก CPU จะไม่เกิน PL1 เป็นต้น ถ้าเราตั้งไว้น้อยมากๆ และตอนนั้นความร้อนสูงเข้าใกล้ PL1 แล้ว ความเร็วก็จะแกว่งไปแกว่งมาระหว่างจุด PL1 กับ PL2
ผลเสียจากการลด Turbo Boost Time Window ก็คือ ซีพียูจะทำงานที่ TDP ระดับมากกว่า PL1 แต่น้อยกว่า PL2 บ่อยขึ้น ทำให้คาดเดาความร้อนที่แท้จริงได้ยาก และจะทำให้ความร้อนอยู่ระดับสูงตลอด ไม่ยอมลด จากที่สังเกตคือ ถ้าความร้อนยิ่งเยอะ ซีพียูจะเลือกใช้แรงดันไฟสูงขึ้นอีก แล้วมันก็จะร้อนขึ้น แล้วมันก็จะเลือกแรงดันไฟสูงขึ้น...เห็นภาพแล้วนะ
UPDATE: 4/2019
Processor Core IccMax : คือปริมาณกระแสไฟฟ้า ที่เมนอบร์ดจะจ่ายให้กับ CPU ได้สูงสุด จะมีผลเวลาที่เราตั้ง Multiplier ไว้สูง และใช้งานไม่ถึง 100% เต็ม ซึ่งจะทำให้ปริมาณ Power (Turbo Boost Power) ยังไม่ถึงจุดที่กำหนด แต่ว่าอาจจะทำให้ความร้อนสูงจนเกินไปแล้ว เนื่องจาก Core ที่ทำงานความเร็วสูง มีการดึงไฟเข้าไปมาก การตั้ง Processor Core IccMax ที่เหมาะสม จะช่วยลดจำนวน Thermal Throttling ที่จะเกิดขึ้นได้ โดยการจำกัดปรืิมาณไฟที่จะจ่ายให้ CPU และป้องกันไม่ให้ CPU เข้าไปติดในวังวนการเพิ่ม Volt ไม่รู้จบเมื่อสักครู่นี้ได้
AVX Offset : ถ้าเกิดว่ามีการใช้ ชุดคำสั่ง AVX ซึ่งเป็นชุดคำสั่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานกับเลขทศนิยมจำนวนมาก (Floating Point) ในแบบ Single Instruction Multiple Data (SIMD) ที่มันกินไฟมากกว่าปกติ จะให้มันลดความเร็วลงเท่าไหร่ (หน่วยเป็นตัวคูณ) เช่นถ้าตอนนั้นซีพียูทำงานที่ 4.0GHz ถ้าตั้ง AVX Offset 5 มันก็จะทำงานที่ 3.5GHz แทน
ผลเสียจากการเพิ่ม AVX Offset ก็คือ ซีพียูจะทำงานที่ความเร็วต่ำลง เมื่อมีการใช้ชุดคำสั่ง AVX
ก่อนอื่น ต้องเข้าใจการติดสเตตัสก่อน!
ไม่ใช่เกมนะ ไม่มีติดพิษ! :P
เพื่อจะเล่นเราต้องมีเครื่องมือ เพื่อใช้ในการทดสอบก่อน ขอแนะนำให้ใช้ LinX แล้วกัน โหลดได้จากหลายที่มาก แนะนำให้โหลดจากเว็บ Softpedia นะ
เปิดมาปุ๊บ กด Settings แล้วปรับ Priority Class เป็น Idle ไว้ก่อนเลย เพราะไม่งั้นเครื่องเรามันจะกดอะไรไม่ไปเลย เพราะ Linx (Linpack) จะใช้ซีพียูเราไปจนหมด ไม่เหลือให้เอามาประมวลผลการคลิกของเราได้ แล้วก็ก่อนกดปุ่ม Start ให้กดที่ All หลัง Memory (MiB) ด้วย เพื่อให้มันขยาย Problem Size ให้ใหญ่ขึ้น มันจะได้รันนานหน่อยต่อรอบ เพราะระหว่างรอบมันจะมีการหยุดและช่วงต้นของการทดสอบเหมือน AVX จะไม่ทำงานนะ
ทีนี้ เพื่อให้ดูว่า PL1 มันมีผลกะความเร็ว และความร้อนเราด้วย นี่คือสเตตัสจากหน้าจอ XTU ที่จับภาพจาก i7-8700K ใน NXL ที่ปรับ PL1 ไว้ที่ 45W เท่า i7-8750H และปิด Turbo Boost Short Power Max ครับ
ทีนี้เรามาดูกันก่อนว่า กราฟกะสเตตัสมันบอกอะไรเรามั่ง
Power Limit Throttling ตัวเหลืองที่โชว์อยู่ตอนนี้ และเขียนว่า Yes อันนี้มันบอกเราว่า ปัจจุบันนี้ซีพียูเราปล่อยความร้อนมาที่ PL1 แล้ว และเรากำลังโดน Throttle อยู่
Package TDP ก็คือปริมาณความร้อนที่ซีพียูกำลังปล่อยออกมาในตอนนี้ จะเห็นว่าคือ 45W เท่ากับที่เราตั้งไว้ในค่าของ PL1 (Turbo Boost Power Max) อันนี้รวมทุกส่วนบนตัวซีพียู นั่นก็คือถ้า GPU บนตัวมันทำงาน ก็จะรวมอยู่ใน Package TDP ด้วย
Max Core Frequency คือ ความเร็วสูงสุดจากทุก Core ที่กำลังทำงานอยู่ในตอนนี้ ตอนนี้มันบอก Active Core Count เป็น 6 ก็คือมันถูกใช้งานอยู่ทั้ง 6 Core บนตัว i7-8700K และตอนนี้ มันทำงานที่ความเร็วแค่ 3.0GHz พอๆ กับ i7-8750H ตอนที่ 6 Core Active นั่นเองไง
Processor Cache Frequency เป็นความเร็วของ Cache หรือหน่วยความจำความเร็วสูงบนตัวซีพียู เข้าใจว่ามันคือความเร็วของ L3 Cache นะ ปกติ L1, L2 ควรจะทำงานที่ความเร็วเท่าความเร็ว Core อยู่แล้ว ไหนๆ สนใจอ่านโพสนี้แล้ว แนะนำให้ไปอ่านเรื่อง Cache/Memory Coherency ด้วย มันคือเหตุผลหนึ่งที่เรามีเมนบอร์ด Server แยกกะ Desktop และ Xeon/Opteron แยกกับ Core i/Ryzen ใบ้ให้ว่า Xeon ใช้วิธี "ดม" นะ เหอๆๆๆ
Current Limit Throttling อันคือประมาณกระแส (Current) ที่วิ่งเข้าไปใน CPU นั้นมีมากเกินไป กว่าที่ CPU ออกแบบไว้ หรือว่า ที่เมนบอร์ดตั้งค่าเอาไว้ โดย Intel มี Datasheet บอกอยู่ว่า CPU แต่ละรุ่นนั้นออกแบบมาให้ทนกระแสไฟได้เท่าไหร่ ซึ่งโดยปกติ บอร์ดน่าจะตั้งมาเท่ากับที่ CPU มันรองรับอยู่แล้ว ถ้าติดที่ Current Limit นี่คือ เรามักทำอะไรไม่ได้แล้ว นอกจากการ Undervolt (Current Limit สำหรับ CPU 6-8 Core คือ 138A)
Mainboard VR Thermal Throttling และ Thermal Throttling เป็นอีกสองสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเหมือนกัน ตัวแรกหมายถึง ภาคจ่ายไฟเรามันร้อนเกินไปแล้ว (VR = Voltage Regulator) เพราะว่าเราอาจจะใส่แรงดันไฟเยอะไป ส่วนตัวถัดมา หมายถึง ตัวซีพียูเราเองที่ร้อนเกินไป ถ้าเจอ Thermal Throttling แสดงว่ามี Core นึง ที่วิ่งอยู่ที่ประมาณ 95c ขึ้นไปแล้วละ
Package Temperature ก็คือความร้อน อันนี้แล้วแต่ความสบายใจว่า ร้อนไปคือเท่าไหร่ :) แต่ปกติถ้าอยู่ที่ 90c ก็ถือว่ายังโอเคนะ ยังห่างไกลจุดที่มันจะเริ่ม Throttle ลงอีกเยอะ ความร้อนนี้ รวมความร้อนของ GPU ที่อยู่บนตัวซีพียูด้วย ถ้าเกิดว่าใช้ทั้ง GPU ด้วย ความร้อนก็ย่อมจะเพิ่มขึ้น
ส่วนคำว่า Throttling โดยรวมหมายถึงว่า ความเร็วของซีพียูกำลังถูกควบคุมอยู่ (Throttle) เพราะว่าเหตุผลต่างๆ นาๆ ที่อธิบายไป
นอกจากนี้ เรายังสามารถกดปุ่ม สัญลักษณ์รูปประแจ เพื่อเลือกเฉพาะสเตตัสที่เราอยากดูก็ได้ ซึ่งสิ่งที่ผมสนใจ จะมีแค่เท่าที่บอกมาตะกี้ กับ Core Voltage อีกตัวนึง
เราจัะรู้ได้ยังไงว่าต้องตั้งอะไรบ้าง?
สำหรับเครื่อง PC สามารถตั้ง Turbo Boost Power Max, Turbo Boost Short Power Max ไปที่ Unlimited ได้เลย และ Turbo Boost Time Window ไปที่ 1s แต่ระหว่างทดสอบ ให้เช็คดู Motherboard VR Thermal Throttling ด้วย ว่า มัน Throtte ที่ Package TDP กี่วัตต์ นั่นคือจุดสูงสุดที่บอร์ดมันรับได้แล้ว และไปปรับ Turbo Boost Power Max มาที่จุดนั้น และสำหรับ PC ไม่จำเป็นต้องทำ Undervolt ยกเว้นแต่ว่าติด Power Limit
เริ่มต้น แนะนำให้ปรับแบบนี้
- Turbo Boost Power Max: 45W สำหรับเครื่องรุ่นที่เป็น CPU Notebook หรือ 65W สำหรับ NXL/GXL ส่วนถ้าเป็น XM15, XL17 ได้ถึง 95W เลยจ้า ต่อไปนี้จะเรียกมันว่า PL1 นะ
- Turbo Boost Power Time Window: 4s
- AVX Offset : 0
จากนั้นเปิด LinX แล้วตั้งค่าให้มัันทำงานไป ประมาณ 3 นาทัี ซึ่งน่าจะเป็นจุดที่มันติด PL1 แล้ว (Power Limit Throttling) และดูว่าความร้อนวิ่งไปอยู่ที่ระดีับไหน ถ้ายังแค่ 70-85c ให้เริ่มเพิ่ม Turbo Boost Power Max ขึ้นทีละ 5 เช่นเดิม 45 เป็น 50 เป็นต้น มาดู i7-8700K ที่โดนจำกัดจำเขี่ยงบประมาณ TDP ไว้ จะเห็นว่า 45W พอเพิ่มเป็น 50W ก็ความเร็วเพิ่มจาก 2.95GHz เป็นประมาณ 3.1GHz เลย
สำหรับเครื่อง LEVEL51 อย่าลืมกด Fn กับเลข 1 (ทางซ้าย ไม่ใช่ Numpad) เพื่อเร่งพัดลมสูงสุดด้วย จะได้รู้ลิมิตจริงๆ ว่ามันแค่ไหน
ก็เพิ่ม PL1 ไปเรื่อยๆ จนถึงระดับความร้อนที่พอรับได้ โดยดูความร้อนที่ขณะที่ติด Power Limit Throttling นะ แปลว่าตอนนั้นคือมันสุดแล้วจริงๆ
สังเกตว่ามันจะมีบางช่วงที่ไม่ติด Power Limit Throttling และความร้อนลดลงด้วย ทั้งที่ Utilization อยู่ที่ 100% แสดงว่าตอนนั้น AVX ไม่ได้ทำงาน มันเลยยังไม่ติด และพอ AVX ทำงานที TDP เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 10W กันเลยทีเดียว
เมื่อพอใจกับความร้อนแล้ว (เราก็มาลด Voltage Offset กันบ้าง อันนี้เขาจะเรียกกันว่า Undervolt โดยเริ่มจาก -0.1000V ก่อนเลย เท่าที่ลองมา ไม่เคยมีเครื่องไหนไม่ได้ -0.1V มาก่อน ก็เลยแนะนำเท่านี้ อิอิ ยำ้อีกที ลด นะ ไม่ใช่เพิ่ม ต้องมีเครื่องหมาย - ข้างหน้าด้วย เช่น -0.1000V
และเนื่องจากตั้งแต่นี้ต่อไป เครื่องมีสิทธิ์ค้าง ก็แนะนำให้เซฟ Profile เก็บเอาไว้ก่อนได้ จะได้ไม่ต้องมาตั้งใหม่ทุกครั้ง (โหลด Profile ได้จากเมนู Profile ซ้ายมือ)
เมื่อเซฟแล้ว ก็เปิด LinX ลุย!!
จะเห็นว่า พอลด Voltage Offset ไป -0.100V ความเร็วเพิ่มจาก 3.77GHz มาเป็น 4.08GHz เลย (เพิ่มขึ้น 8%) ถ้ารันไปพักนึง มันยังไม่ดับ ไม่ค้าง ไม่ Blue Screen แสดงว่ายังไหว เราก็เพิ่มไปอีก แนะนำทีละ 0.025V เช่น
- -0.1000V เป็น -0.1250V
- -0.1250V เป็น -0.1500V
- -0.1500V เป็น -0.1750V
ถ้าได้ถึง -0.150V โดยไม่ค่้างนี่ นับว่าโคตรโชคดีแล้วละ เหอๆๆ อันนี้ตอนลดไป -0.125V จะเห็นว่า จาก 3.77GHz มาเป็น 4.17GHz แล้ว (เพิ่มขึ้น 10%)
แล้วยังไปต่ออีก เป็น -0.1500V ก็ได้ความเร็ว เพิ่มมาเป็น 4.23GHz (เพิ่มขึ้น 12%)
แต่ว่าสำหรับเครื่องนี้ ไม่รอดจ้า -0.1500V แล้ว เกิด Blue Screen
พอเปิดเครื่องกลับขึ้นมาใหม่ Intel XTU จะรีีเซ็ตค่าออกหมดทุกอย่าง เราต้องตั้งใหม่ หรือเปิด Profile กลับขึ้นมา เห็นมั๊ยว่า มันค่อนข้างจะปลอดภัยพอสมควร ตั้งมากไป มันก็โดนรีเซ๊ต ยังไงก็เข้าวินโดวส์ได้แน่
พอเรารู้แล้วว่า มันไม่ไหวที่ -0.1500V เราจะเลือกที่ -0.125V เลยก็ได้ ในภาพนี้ เป็นที่ -0.1350V จะเห็นว่า ความเร็วมันไม่ต่างจาก -0.125V เลย ใช้ -0.125 ดีกว่า
ถ้าเกิดว่าความเร็วยังไม่ได้ตามที่ต้องการ ก็ลองเพิ่ม TDP ดูได้เหมือนกัน อาจจะ 80 -> 83W เป็นต้น
เอาละนะ เมื่อเจอ Maximum TDP, Minimum Voltage ก็เป็นอันว่าสิ้นสุดการ Power Limit Tuning!~ ที่สำคัญคือ อันนี้คือความเร็ว/ความร้อนที่เราจะได้ เมื่อ AVX ทำงานอยู่ด้วย ถ้าเกิดว่าโปรแกรม(ส่วนมาก)ที่ไม่ได้ใช้ AVX ก็จะได้ความเร็วสูงกว่านี้ เพราะว่า AVX มันจะใช้ไฟเยอะ
ต่อไปก็คือการ Overclock จริงๆ ละ
ปรับความเร็วด้วยตัวคูณ (Multiplier)
การ "Overclock" ในสมัยนี้ เอาจริงแล้วมันคือการแค่ปรับ "ตัวคูณ" นี้ เท่านั้นเองแหละ ก็คือรุ่นที่บอกว่าสามารถโอเวอร์คล็อคได้ คือรุ่นที่เราสามารถปรับตัวคูณนี้ได้เท่านั้นเอง อย่าลืมว่า โดยปกติ ซีพียูที่เราใช้ทุกวันนี้ มันโอเวอร์คล็อคอัตโนมัติอยู่แล้ว อย่าง i7-8700K นั้น Base Clock คือ 3.7GHz และ Boost Clock คือ 4.7GHz นะ การปรับตัวคูณนี่คือเราแค่ไปอนุญาตให้มัน Overclock ได้มากขึ้นไปอีก
การตั้งค่า ก็ยังอยู่ใน XTU เหมือนเดิม อยู่ตรงนี้
การตั้งค่าก็ตรงตัวมาก นั่นก็คือ ถ้ามี Core ที่ทำงานอยู่ X Core จะให้ตัวคูณเป็น Y เท่า ทั้งนี้คงจะพอเดาได้แล้วละ ว่า 1x คือ 100MHz นะ เพราะว่า i7-8700K ความเร็วสูงสุดที่เขาโฆษณามา อยู่ที่ 4700MHz หรือ 47x100MHz หรือ 4.7GHz นั่นเอง
สำหรับเครื่องที่เป็น CPU ที่ไม่มีหรัส K แน้่นอนว่าจะปรับไม่ได้นะ จะปรับได้แค่ระบบไฟที่ผ่านมาอย่างเดียว ซึ่งถ้าเกิดว่าความเร็วเท่ากับ 6 Active Cores แล้ว ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการปรับแล้วละ ไม่ต้องทำอะไรอีก
ส่วนถ้าปรับได้ แนะนำให้ปรับทุก Core เท่ากับความเร็ว 1 Active Core จะปรับสูงกว่าก็ได้ อันนี้ก็จะเป็นเรื่องของดวงว่าได้ชิพดีแค่ไหน แต่ว่าหลังจากที่เราได้ลด Voltage (Undervolt) มาแล้ว โอกาสที่มันจะทำความเร็วสูงขึ้น จะเป็นไปได้น้อยลง เพราะความเร็วสูงขึ้น ก็จะต้องการแรงดันไฟสูงขึ้น และพอแรงดันไฟสูงขึ้น มันก็ร้อนอีก ติด Power Limit เร็วขึ้น วนไปแบบนี้แหละ
สำหรับ PC ก็ตั้งความเร็วที่อยากได้ไว้เลย แล้วแทนที่จะไปลด Core Voltage Offset ก็ไปเพิ่มแทน หรือตั้ง Core Voltage เป็นค่า Fixed ไว้เลยได้ เช่น 1.3V (แต่มันจะร้อนขึ้นนะ) โดย PL1 ก็จะเป็นคนช่วยไม่ให้ความร้อนเกินเองจ้า ส่วนถ้าเกิดว่า ความร้อนมันยังอยู่ใน PL1 จะเพิ่ม Clock ขึ้นมาอีกก็ได้
แนะนำให้กดจาก 6 Active Cores ไป มันจะเพิ่มตัวบนๆ ให้ด้วย :) ถ้าตั้งไว้แบบนี้ หมายถึง ต่อให้ทัั้ง 6 Core ทำงาน แต่อาจจะยังไม่ได้ทำงาน 100% มันก็จะพยายามทำความเร็วที่ 4.7GHz ไปเลย ถ้า TDP ยังไม่เกิน 80W และกระแสไฟยังไม่เกิน Processor Core IccMax
แล้วพอเราปล่อยมันรันไป ก็จะเห็นว่าความเร็วมาหยุดที่ 4.1GHz (เข้าใจว่า AVX ทำงาน เพราะมันจะใช้ไฟเยอะกว่า) เท่ากับตอนแรกที่เราทดสอบได้จากตอนเราทำการ Power Limit Tuning รอไว้แล้ว และสังเกตว่า เวลาลดลงจาก 69 วินาที เป็น 67 วินาทีด้วย
Update: 4/2019 - ข้อมูลใหม่ จากเครื่อง NXL RTX
ในปี 2019 เราพบว่า เครื่องล็อตใหม่ ที่มาจากโรงงาน CLEVO นั้น มีการตั้ง Processor Core IccMax เอาไว้ ต่ำกว่าที่ตัว Processor สามารถรับได้ นอกจานี้ ยังปรับจุด Thermal Throttle ไว้เพียงแค่ 87c อีกด้วย ทำให้ผมเกิดสงสัยว่า ทำไมกันนะ คนที่ทำ BIOS เขาจึงได้ทำแบบนั้น หลังจากที่นั่งลองเล่นอยู่คืนนึงเต็มๆ ก็เลยเข้าใจแล้ว!!!! และก็ต้องเอามาเขียนให้อ่านกันเนี่ยแหละ
ก่อนอื่นเลย ตัว CPU แต่ละรุ่น จะมีความสามารถในการรองรับกระแสไฟที่ต่างกันไปนะ ตาม Datasheet ของ Intel ระบุเอาไว้ตามนี้ ซึ่ง BIOS ของเครื่อง NXL รุ่น GTX ก็จะตตั้งไว้ที่ 138 Amp ตามเสปค
แต่ว่าในเครื่อง NXL รุ่นที่เป็น RTX นั้น กลับมีการตั้งเอาไว้ที่ 103 Amp เท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับค่าใดๆ เลยในตารางข้างบนนี้ จะว่าเป็นของ 35W ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะว่ารุ่นนี้ก็ทำรองรับ CPU 65W อยู่แล้ว
จากการเล่นกับ Intel XTU นี้ ผมสังเกตเห็นว่า พอความร้อนยิ่งสูงขึ้้น CPU จะต้องการ Voltage สูงขุึ้น แล้วพอ Voltage สูงขึ้น ความร้อนก็ยิ่งสูงขึ้น ทำให้มันต้องการ Voltage สูงขึ้นอีก วนไปแบบนี้ และผมก็สังเกตว่าในช่วงที่ CPU ยังไม่ค่อยร้อน ตัวมันจะสามารถทำงานที่ความเร็วสูงได้ โดยที่ Package TDP ยังต่ำอยู่อีกด้วย จะเห็นว่าตอนนี้ ที่ TDP 68W ความเร็วกลับอยู่ที่ 4.95GHz ได้สบาย
ถ้าย้อนกลับไปดูภาพจากย่อหน้าที่ผ่านมาเรื่องการ Undervolt จะเห็นว่า ที่ความเร็ว 4.23GHz นั้น Package TDP ไปถึง 83W แล้ว และจะเห็นว่า มันต้องใช้แรงดันไฟถึง 1.157V ในการทำให้ได้ความเร็ว 4.23GHz ในขณะที่ ตอนที่ความเร็ว 4.95GHz ในภาพข้างบน ใช้แรงดัันไฟเพียง 1.267V
ผมสังเกตเห็น Pattern นี้มาตั้งนานแล้ว และอยากจะพยายามจำกัด ไม่ให้ CPU มันเข้าไปติดลูปการเพิ่ม Volt ไม่รู้จบนี้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ว่าด้วยความที่ด้อยความรู้เรื่องวิชาฟิสิกส์สุดๆ (ตกตลอด เป็นมนุษย์ที่จำสูตรอะไรไม่ค่อยได้เลย) เลยไม่ทันนึกคิดได้ว่า สูตรการคำนวณ ปริมาณงาน (Watt) หรือค่า P หรือค่า PL1 นั้น มันคือแบบนี้
จะเห็นว่า จริงๆ แล้ว การไปจำกัด P เพื่อควบคุมความร้อน น่าไม่ใช่ทางที่ถูกซะทีเดียวนัก เพราะว่า P (หรือ PL1) นั้น เป็นการทำงานของกระแสไฟฟ้า ซึ่งตัวแปรที่ทำให้เกิด P จริงๆ แล้วคือ V แรงดันไฟ (ซึ่งเราไปเล่นกับมันแล้ว คือการ Undervolt) และ I กระแสไฟ (Processor Core IccMax) การที่เราไปจำกัด PL1 (P) จึงไม่ใช่การแก้ที่ต้นเหตุ เพราะต้นเหตุของ P มันคือ V กะ I ต่างหาก~!!!
ผมจึงทดสอบโดยการ ลด Processor Core IccMax ของเครื่อง NXL GTX ที่ใช้ทดลองนู่นนี่จนเละเทะไปหมดแล้ว จาก 138Amp เหลือเพียง 115Amp และตั้ง Undervolt -0.135V พร้อมทั้งตั้งค่า Thermal Throttle ให้ต่ำลงเหลือ 92c ก็ปรากฏว่าได้ผลแบบนี้....คือ เวลาจาก 69 วินาที ลดเหลือ 40.7 และ GFLOPS เพิ่มจาก 112 เป็น 190 เพิ่มขึ้น 70% เฮ้ยยยยย~~!?!?!?
(หมายเหตุ: Windows Build นี้ เป็นคนละ Build กับตอนที่เขียนบทความครั้งแรก อาจจะมีการปรับปรุงเรื่องการใช้ AVX ส่วน CPU ที่ใช้เป็น 8086K แต่ว่าปรับความเร็วไว้ที่ 4.7GHz)
(หมายเหตุ 2: เครื่องที่ผมใช้อยู่นี้ น่าจะต้องเปลี่ยน Heatsink แล้วละ เพราะถูกเปลี่ยนถูกขัดผิวหลายรอบ มันน่าจะห่างจาก CPU เกินไปจนแรงกดไม่ค่อยพอ เพราะที่ TDP 50-60W ยัังความร้อนสูงอยู่เลย >.< แต่ก็คิดว่าใช้อ้างอิงได้นะ)
ผมจึงได้ทดสอบปรับค่าระหว่่างจุด Thermal Throttle กับ Processor Core IccMax ดูว่า มันมีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพในเครื่อง NXL ของผมอย่างไรบ้าง ก็ได้ผลออกมาตามนี้ครัับ
น่าจะพอสรุปได้แบบนีี้ว่า
- ถ้า IccMax มาเกินไป แทนที่ประสิทธิภาพจะเพิ่มกลับลด ที่สังเกตคือมันจะไปติด Power Limit/Thermal Throttle เร็วกว่า
- ถ้า จุด Thermal Throttle ต่่ำไป ก็จะได้ประสิทธิภาพต่ำลงมากจนเกินไปเหมือนกัน
- ทั้ง Thermal Throttle และ IccMax มีผลกับประสิทธิภาพแน่นอน (จากการทดลองลดเหลือ 95Amp / 87c)
และจากการสังเกตตอนเทส พบว่า ถ้าปรับ IccMax ไว้ที่ 138Amp ควบคู่กับการปรับ 8086K ไปที่ 5.0GHz ทุก Core เครื่องจะดับบ่อยมากน่าจะจากโดน Thermal Trip Point (มี Core นึงถึง 100c) เพราะว่า CPU ดึงไฟเข้าไปมากแบบกระทันหัน หลังจากปรับ IccMax ไว้ที่ 103Amp แล้ว ตัว CPU ก็ยังสามารถทำงานได้ที่ 4.9-5.0GHz ได้อยู่ในจะหวะ Burst เช่น เปิดโปรแกรม Photoshop หรือเปิดหน้าเว็บใหม่ และก็ไม่มีอาการดีับเกิดขึ้นเลย
ก็คิดว่า พอจะสรุปได้ว่า หนทางที่จะรีดประสิทธิภาพที่สุดออกมาจาก NXL โดยที่ความร้อนก็อยู่ในระดัับที่ไม่สูงมาก น่าจะเป็นตามนี้ครับ
- TjMax 100 Tcc: 8 (92c) ปรับใน BIOS
- Multiplier ปรับสูงสุดเท่ากับ 1 Core Boost เช่น 50x สำหรับ 8086K
- Processor Core IccMax ใช้ 103A ปรับแล้วต้อง Restart นะ ถึงจะมีผล
- Turbo Boost Short Power Max (PL1) : Unlimited เพราะว่าเราปรับ TjMax Offset คุมไว้แล้ว และก็ IccMax คุมไว้แล้ว เป็นการตัดตัวแปรนี้ออก
- Turbo Boost Power Max (PL2) Unlimited เพราะว่าเราปรับ TjMax Offset คุมไว้แล้ว และก็ IccMax คุมไว้แล้ว เป็นการตัดตัวแปรนี้ออก
- Turbo Boost Power Time Window 1 วินาที เนื่องจากเราปรับ PL1/PL2 Unlimited มันก็ไม่มีผลอยู่ดี
- และสุดท้าย ทำการ Undervolt โดยทั่วไปจะได้ -0.1V สบายๆ แล้วแต่ว่าเราจะได้ชิพดีแค่ไหน การ Undervolt คือตัวแปรสำคัญ ที่กำหนดว่า ตกลงเราจะได้ความเร็วสูงสุดเท่าไหร่กันแน่
ทีนี้ ในการปรับ TjMax Offset จะต้องปรับใน BIOS นะครับ ผมทำ BIOS ตัวใหม่สำหรับ NXL GTX สามารถดาวน์โหลดได้เลย วิธีการ Flash คือ เปิด Command Prompt แบบ Admin แล้วไปที่ Folder ที่มีไฟล์ FPTW64.exe กับ nxl-1.07.111-logo-mod.bin ที่ดาวน์โหลดมา แล้วพิมพ์ว่า
ftpw64.exe -f nxl-1.07.111-logo-mod.bin -BIOS
หมายเหตุ: NXL RTX ไม่ได้ใช้ BIOS ตัวนี้ และมีการตั้งค่า TjMax ไว้ที่ 87c, Processor Core IccMax 103A ใน BIOS ไว้แล้ว สามารถปรับค่า Multiplier, PL1/PL2 Unlimited ได้เลย
หวังว่าโพสนี้ คงจะช่วยให้ทุกท่าน รีดประสิทธิภาพของเครื่องมาได้มากยิ่งขึ้นนะ ขอบคุณที่ติดตามอ่านมาถึงตรงนี้ ถ้าโพสนี้ดูดีมีความรู้ ก็ฝากแชร์ให้เพื่อนๆ ที่สนใจ มาอ่านกันบ้างนะครับ :D