BLOG

Why your CPU won't run at Max Boost Clock???

แล้วทำยังไง มันถึงจะทำงานได้ที่ความเร็วสูงที่สุด?

เรื่อง Turbo Boost นี่ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าปวดหัวมากเลยทีเดียวแหละ เพราะว่า ในสื่อโฆษณา เรามักจะเห็นตัวเลขที่น่าประทับใจ อย่างเช่น รุ่น i7-8750H ทำความเร็วสูงสุดได้ตั้ง 4.1GHz หรือ รุ่น i7-8550U ทำความเร็วได้ตั้ง 4.0GHz อู้หู รุ่น U ใน Ultrabook เร็วเกือบเท่าเครื่องใหญ่เลยนี่นา

แต่ถ้าเคยลองเข้าไปเปิดดูเว็บของ Intel อย่าง เช่นของรุ่น i7-8750H เราจะเห็นข้อความเขียนไว้แบบนี้:

มันแปลว่าอะไรหว่า? ถ้าสรุปเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายหน่อย ก็คือ มันทำงาน 4.1GHz ได้กรณีเดียว คือมี Core (แกนประมวลผล) ที่ถูกใช้งานอยู่เพียงแค่ 1 Core เท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มันแทบจะไม่เคยเกิดขึ้นเลย

ก็ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เราได้เดินทางมาถึงทางตันของเทคโนโลยีในการเพิ่มความเร็วของซีพียูมาพักใหญ่ๆ แล้ว จากภาพ (คลิกที่ภาพเพื่อดูงานวิจัยต้นฉบับ) จะเห็นว่า มีช่วงหนึ่งที่ซีพียูความเร็วเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากแบบเกือบ Linear เลย (10^2 = หลักร้อย, 10^3 = หลักพัน) แล้วไปหยุดในช่วงประมาณครึ่งนึงของหลักพัน ซึ่งก็คือประมาณ 4,000-5,000 (4-5GHz) ที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้

Historical growth of processor performance in terms of clock -rate, in comparison to predicted and required performance. Source : [NRC11]

สาเหตุก็เพราะว่า พอความเร็วสูงขึ้น ก็จะมีไฟฟ้า หรือก็คืออิเลกตรอนจำนวนมากวิ่งเข้าไปในวงจรของซีพียูในปริมาณมากขึ้นในระยะเวลาเท่าเดิม อิเลกตรอนพวกนี้บางส่วนจะต้องถูกกักไว้ด้วยสวิตช์ที่ทำให้เกิดเป็นวงจรประมวลผลที่เรียกว่าทรานซิสเตอร์ (ปัจจุบันคือ CMOS) พอมันโดนกักมันก็จะคายพลังงานออกมาในรูปของความร้อน นอกจากนี้ภายในวงจรก็มีความต้านทาน ความต้านทานก็ทำให้เกิดความร้อนอีกเหมือนกัน จริงๆ เราจะทำให้ซีพียูวิ่งเร็วกว่านี้ก็ได้ แต่มันก็จะร้อนมากจนเกินไป จนมันไ่ม่สมเหตสมผลที่จะทำออกมายังไงละ

ก่อนอื่น ต้องรู้จัก TDP กันก่อน

ภาพข้างล่างคือตัวอย่างของ CPU i7-8700K ที่ทำงานที่ความเร็ว 4.7GHz ซึ่งเป็นความเร็ว Turbo Boost ของ i7-8700K ที่ Intel บอกไว้ โดยผมใช้โปรแกรม ThrottleStop ทำการรันทดสอบ ให้ใช้งานพร้อมกันทั้ง 6 Core เต็มๆ 100%

สังเกตสองค่าสำคัญที่เกี่ยวข้อง ก็คือ Voltage และ Package TDP (Power ในหน้าจอ ThrottleStop) ที่บอกว่า ตอนนี้ Votage อยู่ที่ 1.24 โวลต์ และ Package TDP (Power) อยู่ที่ 114.6 (วัตต์) ครับ แล้วมุมลางขวาของภาพจะเห็นว่าตอนนี้ซีพียูเจอ "Power Limit Throtting" สีเหลืองๆ อยู่ด้วยนะ

ถ้าลองไปเปิดเว็บ Intel ดูจะเห็นได้เลยว่า ทาง Intel ระบุ Base Frequency หรือความเร็วปกติ ของ i7-8700K ไว้ที่ 3.7GHz และ Max Turbo คือ 4.7GHz ส่วน TDP นั้น อยู่ที่ 95W

นั่นหมายถึงว่่า การที่ผมได้พยายามให้ i7-8700K ทำงานที่ความเร็ว 4.7GHz ทั้ง 6 Core นั้น ค่า TDP เกินจากที่ Intel กำหนดเอาไว้ถึง 20%~ แถมมันยีังทำงานไม่ถึงความเร็ว 4.7GHz ที่ตั้งค่าเอาไว้ด้วย (ได้แค่ 4.5 กว่าๆ)

แล้วอะไรคือ TDP กันแน่ ? Intel เขาบอกไว้แบบนี้: "TDP (Thermal Design Power) คือพลังงาน หน่วยเป็นวัตต์ ที่ซีพียูจะแผ่ออกมา เมื่อทำงานที่ความเร็ว Base Frequency เมื่อทุก Core ถูกใช้ประมวลผล ในงานการคำนวณที่ซับซ้อนมาก ซึ่ง Intel เป็นคนกำหนดขึ้นมา(เพื่อใช้ในการวัดค่านี้)"

สรุปก็คือ TDP คือปริมาณความร้อนที่ตัวซีพียูจะแผ่ออกมา เมื่อทุก Core ทำงานประมวลผลอยู่ ที่ความเร็ว Base Clock ซึ่งก็คือ 3.7GHz ในกรณีของ i7-8700K พอเราไปให้มันทำงานทั้ง 6 Core ที่ความเร็ว 4.7GHz ซึ่งเป็นความเร็ว Max Turbo ของมัน ที่เพิ่มขึ้นจาก Base Clock 27% ความร้อนก็เพิ่มขึ้นไปอีก ~20% (จาก 95W เป็น 116W) ตามไปด้วยนั่นเอง

แล้วทำไมถึงมี Turbo Boost มันคืออะไร?

จากที่ได้เกริ่นไปแล้วว่า เรามาถึงจุดที่เราไม่สามารถเพิ่มความเร็วซีพียู โดยที่ไม่ทำให้มันร้อนเกินไปได้อีกแล้ว ดังนั้น เมื่อ Scale-Up (เร็วขึ้น) ไม่ได้แล้ว ทาง Intel ก็ไม่มีอะไรจะขายเราแล้ว เพราะเราซื้อซีพียูใหม่ เราก็หวังว่ามันจะต้องเร็วขึ้น ถูกไหม?

วิศวกรก็เลยต้องเริ่ม Scale-Out บ้าง ก็คือ แทนที่ในซีพียูแบบที่เราเข้าใจกันเนี่ย จะมีซีพียูแค่ตัวเดียว ก็จับเอาซีพียูสองตัวมาวางติดกันแล้วให้มันทำงานด้วยกันได้ ประหนึ่งว่า เครื่องเรามีช่องเสียบซีพียูช่องเดียว แต่ว่าใส่ได้สองตัวพร้อมกัน ประมาณนั้นเลย รุ่นแรกที่ Intel ทำออกมา (และเป็นรุ่นแรกของโลก สำหรับเครื่อง Desktop) ก็คือเอา Pentium 4 สองตัว มาวางอยู่ในซีพียูตัวเดียวกัน กลายเป็น Pentium 8 เอ้ย Pentium D นั่นเองไง ตัวมันเองตัวเดียวก็ร้อนแล้ว เอาสองตัวมาวางอยู่ด้วยกัน TDP ตอนนั้นไปกันถึง 130W เลยจ้า ตามไปดูภาพหายากจาก Techarp.com นะ

เหตุการณ์นี้ทำให้ AMD ช่วงนั้นดูดีมากๆ เพราะว่าระบบการทำงานของ AMD Athlon 64x2 ภายในนั้นทำออกมาได้ดีกว่า เนื่องจากออกแบบมาให้เป็น Dual Core แต่ต้น ก็คือจะเหมือนกับ Conroe ของ Intel (ภาพกลางข้างบน คือรุ่น Core 2 Duo) ในขณะที่ Pentium D เหมือนเป็น Product ที่เร่งออกวางขาย (เอ๊ะ เหมือนตอนนี้ก็ด้วย) เป็นแค่เอา Die สองอันมาวางบน Package พื้นเขียวๆ เดียวกันในรุ่น Presler ส่วนรุ่นแรกที่ออกมาคือ Smithfield จะอยู่ใน Die เดัียวกันด้วย แต่เป็นการแปะ Core 2 Core ไว้ด้วยกันไม่ได้ออกแบบมาเพื่อเป็นซีพียู Dual Core แต่ต้น

แล้วการที่ซีพียูมีมากกว่า 1 Core ก็ทำให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมา (ซึ่งผมสรุปเองนะ เคยอ่านมา แต่หาที่อ้างอิงไม่ได้ละ) ก็คือ

  • - โปรแกรมส่วนมากในตอนแรกๆ (และในตอนนี้ก็ด้วย) ยังไม่ถูกเขียนมาเพื่อใช้งานหลาย Core พร้อมกัน (โปรแกรมเป็นแบบ Single Thread) เพราะการจะทำอะไรหลาย Thread มันจะทำให้โปรแกรมซับซ้อนขึ้น แล้วที่สำคัญก็คือ พอซีพียูออกใหม่ เดี๋ยวโปรแกรมเราก็เร็วตามอยู่แล้ว ไม่ต้องแก้อะไร ช่วงนั้นเราเรียกว่ามันเป็นช่วง Free Lunch ของคนทำโปรแกรม เพราะโปรแกรมเก่า รันเครื่องใหม่ ก็เร็วขึ้นทันที

  • - ถ้าเกิดว่ามีโปรแกรม Single Thread ทำงานอยู่โปรแกรมเดียวหนักๆ เช่นเปิดเกม (สมัยนั้น) อีก Core จะอยู่ว่างๆ ไม่ค่อยได้ทำอะไร อาจจะเป็นงาน Background เช่น แสกนไวรัส รับข้อความ ICQ, MSN (สมัยนั้นอะนะ) แค่นั้นเอง

  • - แต่ว่า TDP ที่กำหนดออกมา ต้องกำหนดออกมา เพื่อรองรับกรณีที่ทั้งสอง Core ทำงานเต็ม 100% พร้อมกัน หรือสรุปได้อีกอย่างว่า ถ้าซีพียูที่เป็น Dual Core งบประมาณ TDP มันต้องหารครึ่งกันด้วย ก็คือ TDP 130W จริงๆ แล้ว มันคือ 65 + 65 = 130 หรือ TDP 95W = 47.5 + 47.5 เป็นต้น ถ้ามี 1 Core ทำงาน จาก 2 Core TDP ที่ใช้จริง ก็จะแค่ประมาณครึ่งเดียวเท่านั้น


แล้วถ้าใครที่ทัน Pentium D 805 น่าจะพอจำได้ว่า มัน Overclock ได้เยอะมาก (3.5GHz สบายๆ จาก 2.66Ghz) จริงๆ ผมว่าเราเข้าใจผิดไป มันไม่ได้ Overclock ได้เยอะ มันถูกลด Clock มาเยอะตั้งแต่แรก เพราะว่า TDP 95W มันไม่พอให้ทั้งสองตัววิ่งที่ 3.5GHz ได้ต่างหาก! :P

หลักการของ Turbo Boost หรือ Boost แทบทุกอย่างที่เราได้ยินกันตอนนี้ก็ง่ายๆ แค่นี้เอง ถ้าเกิดว่า TDP ของทั้งชิพ (Package) ยังเหลือ และตอนนั้นความร้อนไม่ได้สูงเกินไป ก็ทำการ Overclock เฉพาะ Core ที่ถูกใช้งานอยู่ ให้มันเต็มลิมิตของ TDP ไปเลยสิ!

ถ้าเราอยากให้ซีพียู 8750H วิ่ง 4.1GHz ตลอด จะได้ไหม?

อยากให้ลองพิจารณาจากข้อมูลที่ผมให้ไปตะกี้หน่อยว่า มีทางไหนบ้าง ที่เราจะทำให้ระบบ Turo Boost ทำการ Overclock จนสุดให้เราได้บ้าง?

ก็ต้องมาดูก่อนเลยว่ามีตัวแปรอะไร ที่เกี่ยวข้องกับ Turbo Boost บ้าง....ก็มีแค่ TDP อย่างเดียวเลย ซึ่งก็คือถ้า TDP ในปัจจุบันนั้นยังไม่เกิน มันก็จะ Overclock ให้เราเองอัตโนมัตินั่นไง

ทีนี้ต่อไปก็ต้องมาดูว่า อะไรบ้างที่มีผลกับ TDP

เราทราบอยู่แล้วว่า หลักๆ เลยมันคือ ความเร็ว (Clock Speed) ยิ่ง Clock Speed เยอะ มันก็จะยิ่งร้อน ยิ่งร้อน TDP ก็มากขึ้น...จริงเหรอ? ลองดูภาพต่อไปนี้ (จากเครื่องเดิม ซึ่งคือ XM15 จ้า) จะเห็นว่า ตอนนี้ความเร็วขึ้นมาเป็น 4.7GHz ตามที่ผมได้ตั้งค่าไว้แล้ว และ TDP ลดลงจาก 116W เหลือ 97W 

เร็วขึ้น แต่ปล่อยความร้อนน้อยลง เป็นไปได้อย่างไร? ก็ต้องมาดูที่ Voltage (แรงดันไฟ) จะเห็นว่าจากภาพที่แล้ว Voltage อยู่ที่ 1.2404V แต่ในภาพนี้ Voltage ลดลงเหลือ 1.1184V ลดลง 0.122V หรือประมาณ 10% ปรากฏว่า การที่เราลด Voltage ลง 10% มีผลทำให้ TDP ลดลง 16% กันเลยทีเดียว หรือสรุปได้ว่า ถ้าเราลดแรงดันไฟ ความร้อนที่ปล่อยออกมา (Package TDP) ก็จะลดลงตามไปด้วย เมื่อ Package TDP ลดลง ระบบ Turbo Boost ก็เร่งความเร็วได้สูงขึ้น ตามนั้นเลย

ถ้ามองดูในภาพ จะเห็นว่า ตรงที่เขียนว่า Core Voltage Offset เขียนว่า -0.125V อยู่ สิ่งที่ผมทำอยู่นี้ เรียกว่าการ Undervolt ครับ ก็คือลดเรงดันไฟนั่นเอง...และก็มาถึงคำถามที่ว่า แล้วตกลง เราจะให้ 8750H มันวิ่ง 4.1GHz ตลอด ต่อให้ใช้ทั้ง 6 Core ได้ไหม?

คำตอบคือ ไม่ได้อยู่ดีจ้า >.<

ทำไม 8750H วิ่ง 4.1GHz ตลอดไม่ได้ !? :'(

นั่นก็เพราะว่า ซีพียู 8750H เป็นซีพียูที่โดนกั๊กความเร็วเอาไว้ เรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ มันถูก "ล็อคตัวคูณเอาไว้" (Locked Multiplier) เพราะมันเป็นรุ่นที่ Overclock ไม่ได้ รุ่นที่สามารถทำได้ จะเป็นรุ่นที่มีชื่อลงท้ายด้วย K เช่น 8700K เป็นต้น

ถ้าถามว่าทำไม 8750H ต้องโดนกั๊กความเร็วด้วย ก็น่าจะเป็นเพราะว่า คุณภาพชิพของมัน ยังไม่ดีเท่าชิพตัวเดียวกันเกือบเป๊ะๆ ที่ขายเป็น i9 ยังไงละ ทาง Intel ทดสอบแล้วว่า ชิพตัวนี้ ยังไม่สามารถทำความเร็วได้สูงพอ ที่จะขายมันเป็น i9 หรือ i7-8850H ได้ ก็ทำการเซ็ตความเร็วมันเอาไว้ แล้วขายมันเป็น i7-8750H แทน ส่วนชิพที่ทำได้ ก็เก็บไว้ ขายเป็น i9 ซึ่งกระบวนการนี้มีทำกันทั่วไป อย่างเช่น GTX1050 กับ GTX1050Ti ก็เป็นชิพตัวเดียวกัน ตัว GTX1050Ti ที่เสียบางส่วน ก็มาขายเป็น GTX1050 แทนที่จะต้องทิ้งไปเลยให้เสียของ เป็นต้น (อย่าง GTX1080Ti ก็น่าจะเป็น Titan Xp ที่เสียบางส่วนเหมือนกัน) กระบวนการนี้เรียว่า Binning Process นะ มันเกิดจากการที่เราทำชิพใหญ่ขึ้นๆ เนี่ยแหละ พอชิพใหญ่ บางส่วนมันก็เสีย

แล้วงงมั๊ย มัน Overclock ไม่ได้ แต่ปกติมันก็ Overclock อยู่แล้ว งงจริงๆ นั่นแหละ ก็คือ การที่ "Overclock ไม่ได้" ในสมัยนี้ จะหมายถึงว่า เราไม่สามารถปรับ "ตัวคูณ" ที่ว่านี้ได้ ซึ่งการ "ปรับตัวคูณ" มันก็จะเหมือนกับการปรับบูสต์ของเทอร์โบในรถนั่นแหละ ยิ่งหมุนไปเยอะ มันก็จะ "คูณไปเยอะ" นั่นเอง แต่ว่าการปรับได้ ก็ไม่ได้การันตีว่ามันจะทำงานที่ความเร็วที่เราปรับเหมือนกัน เช่น 8700K ที่ผมยกตัวอย่างไปเมื่อซักครู่นี้ ที่ครั้งแรกมันทำงานที่ความเร็ว 4.5GHz ทั้งที่ตั้งค่าไว้ 4.7GHz เป็นต้น เพราะว่าติด Power Limit ตัวสีเหลืองๆ (เดี๋ยวเราจะกลับมาเรื่องนี้อีกทืี)

สำหรับ i7-8750H Intel จะไม่ได้ระบุความเร็ว หรือ Maximum Boost ของแต่ละ Core เอาไว้บนเว็บแล้ว (จำได้ว่าเคยเห็นนะ แต่ก็หาไม่เจอบนเว็บ Intel เหมือนกัน) แต่ว่าเราสามารถเข้าไปหาดูได้ตามเว็บ หรือเปิดโปรแกรม Intel Extreme Tuning Utility ได้เลย

สำหรับของ 8750H ตั้งค่าเอาไว้ตามนี้:

  • - 6 Core : 3.9 GHz
  • - 4 Core : 4.0 GHz
  • - 1-2 Core : 4.1 GHz

ส่วน 7700HQ จะตั้งค่าไว้ตามนี้:

  • - 3-4 Core : 3.4GHz
  • - 2 Core : 3.6 GHz
  • - 1 Core:  3.8GHz


ถ้าดูแค่ตัวเลขเฉยๆ เราคงจะรู้สึกว่า โห~ นอกจากจะเปลี่ยนจาก 4 เป็น 6 Core แล้ว รุ่น 8750H ยังทำความเร็วได้มากกว่า โดยที่ปล่อยความร้อน (TDP) เท่าเดิมที่ 45W เหรอนี่!

ขออนุญาตเอากราฟ Clock Speed ที่ผมรีวิว NXL เทียบกับ NX มาให้ดูเลยละกันนะ

จุดสังเกตจากผลการทดสอบนี้:

  • - i7-8750H (TDP 45W) ส่วนมาก ทำความเร็วอยู่ที่ประมาณ 3.0 - 3.2GHz จากที่กำหนดไว้ 3.9-4GHz โดยมันจะติด Power Limit แล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่า i7-8750H มันถูก Overclock จาก Base Clock 2.2GHz มาเกือบ 1GHz แล้วนะ การที่ Overclock มาได้ถึง 45% ถือว่าเยอะมาก

  • i7-8700 มาตรฐานกำหนด TDP ไว้ให้ที่ 65W จะทำความเร็วอยู่ในช่วงประมาณ 3.6-3.7GHz ขึ้นไป

  • - i7-8700 พอเปลี่ยน TDP ให้เป็น 95W (เท่ากับ 8700K) สามารถทำความเร็วอยู่ในระดับ 3.9 GHz ขึ้นไป และถึงประมาณ 4.2GHz ได้เลย


สรุปก็คือ ที่ 8750H ไม่สามารถทำความเร็ว 4.1GHz ตลอดเวลาได้ หรือแม้แต่ 3.9GHz ตลอดเวลาได้ ก็มาจากสองสาเหตุ คือ:

  • 1) Intel ทำการตั้งค่า Turbo Boost ไว้แล้ว ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ ก็คือถ้าตัดเรื่อง TDP ออกไป ความเร็วสูงสุดเมื่อ 6 Core ทำงานก็คือ 3.9GHz

  • 2) TDP ของ 8750H นั้นต่ำเกินกว่าที่จะให้มันทำงานที่ความเร็วสูงขนาดนั้นได้ แค่ 3.2GHz ก็ถึง 45W แล้ว


แต่ถ้าเทียบกับ 7th Gen แล้ว ใน 7th Gen ทาง Intel จะตั้งตัวคูณไว้พอดีกับ TDP เลย นั่นก็คือ i7-7700HQ ถ้าทำงาน 4 Core ที่ความเร็ว 3.4GHz มันจะปล่อยความร้อน 45W พอดีเป๊ะ แต่ใน 8th Gen Intel ได้ตั้งความเร็วสูงสุดที่ชิพมันสามารถไปถึงได้ โดยไม่สนใจ TDP ไว้ให้เราแล้ว~ (เย้) นี่เป็นสาเหตุที่ 8th Gen ร้อนมาก และ MacBook Pro i9 Throttle หนักมากก่อนจะโดนแก้ เพราะว่าใน BIOS MacBook Pro i9 ไม่ได้เปลี่ยนค่า TDP Limit แต่ปล่อยไว้ที่ 100W เลย ทำให้มันร้อนเกิน ตัวจ่ายไฟที่ออกแบบมาสำหรับ CPU 45W Overload แล้วก็ Throttle วนไปรัวๆ เพราะว่ามันไม่เคยเกิดกรณีที่ ตัวคูณที่ Intel ตั้งมา สูงเกิน TDP ขึ้นมาก่อนยังไงละ

อีกอย่างที่เป็นไปได้ก็คือ Intel อาจจะระมัดระวังมากๆ โดยการโฆษณา Base Clock ต่ำไว้ก่อน (บอกไว้ 2.2GHz ทั้งที่ส่วนมากก็เห็นมันอยู่ 3.0-3.2GHz ตลอด) หรือไม่ก็เป็นไปได้ว่าคุณภาพของชิพนั้นกว้างมาก อาจจะมีชิพบางตัวที่มัน Boost แทบไม่ขึ้นเลยก็ได้ คือต้องใช้แรงดันไฟสูงมากกว่าปกติทำให้มันติด TDP เร็วกว่าเพื่อน จริงๆ เราเองก็เคยพบมาแล้วคือ มี NXL i7-8700 อยู่กลึุ่มหนึ่งที่สามารถทำความเร็ว 4.3GHz ได้ตลอดเวลา (Max Boost สำหรับ 6 Core) โดยที่ไม่ต้องประับอะไรเลย มีศัพท์เรียกเหตุการณ์นี้ด้วย ก็คือคุณลูกค้าถูกหวย Silicon Lottery (ในทางที่ดี) ครับ

ถ้าอย่างนั้น เรามีทางทำให้มันความเร็วสูงกว่า 3.2GHz ได้ไหม?

ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้คงจะพอนึกออกแล้วสินะว่า เราจะต้องทำยังไง :) ก็มีการตั้งค่าที่เราต้องปรับอยู่สองอย่าง คือ TDP และ แรงดันไฟที่เราจะจ่ายไปให้กับซีพียูนั่นไง ผมขอบัญญัติศัพท์ขึ้นมาเลยแล้วกัน ขอเรียกมันว่า Power Limit Tuning~

ส่วนวิธีการที่จะปรับค่า TDP และแรงดันไฟนั้นไม่ยากเลย สำหรับเครื่อง LEVEL51 ที่เป็น 8th Generation ทั้งหมด ใน BIOS ตัวปัจจุบันของเรา จะถูกปลดล็อคฟังก์ชั่น Overclock ทั้งหมดมาให้แล้วจากโรงงาน (เย้) สำหรับเครื่องยี่ห้ออื่นๆ นั้น ผมไม่ได้มีโอกาสลอง ไม่สามารถยืนยันได้ว่ามันปรับได้ไหม ต้องขออภัยด้วยนะ และนี่ก็คือผลงานการ Power Limit Tuning ของผมครับ หึๆ 



ส่วนถ้าโชคดีหน่อย ก็อาจจะได้ขนาดนี้กันเลย เครื่อง NX แต่ความเร็วไป 3.89GHz กันซะทีเดียว


  • เอาละทีนี้ทุกท่านคงจะต้องถามต่อว่า แล้วจะต้องปรับอะไรยังไงบ้าง? แบบละเอียดขออนุญาตแยกมันออกเป็นอีกโพสนึงนะ เพราะว่ามันเกี่ยวข้องกับการโอเวอร์คล็อกด้วย ติดตามกันต่อได้ที่ โพสนี้เลย 
BLOG

LEVEL51 คือใคร?

เราเป็นบริษัทโน๊ตบุ้คของคนไทย ใช้เครื่องจากโรงงาน CLEVO แบบยี่ห้อดังในต่างประเทศ ที่คุณสามารถเลือกสเปคเองได้เกือบทั้งเครื่อง ถ้าโน๊ตบุ้คและคอมพิวเตอร์ของคุณ คืออุปกรณ์สำคัญในการทำงาน นี่คือเครื่องที่ออกแบบมาสำหรับคุณ

1317
Customers
0
THB 100,000 Builds
49
K
Average Build Price
0
K
Most Valuable Build

Our Government and Universities Customers:

Our Video Production, 3D Design, Software House Customers:

Landscape Design

Our Industrial and Construction Customers:

 

พิเศษเฉพาะคุณ - รับคูปองส่วนลด 2,000 บาท สำหรับการสั่งซื้อเครื่องกับเรา